Untold Story “THE CARTIERS” Part III

ด้วยความรู้สึกพิเศษต่อนาฬิกาข้อมือ Louis จึงรู้สึกตื่นเต้นกับงานด้านการผลิตนาฬิกา เพราะสำหรับเขาแล้ว CARTIER นั้นจะเป็นได้มากกว่าเฉพาะเครื่องประดับ ด้วยความรักในการผสมผสานระหว่างรูปแบบและการใช้งาน เขาจึงมุ่งมั่นที่จะยกระดับการผลิตนาฬิกาตั้งโต๊ะของ CARTIER ขึ้นไปอีกระดับ โดยเริ่มจากการเสาะหาผู้ที่จะสร้างสรรค์นวัตกรรมให้กับเขาได้ และ Louis ก็ได้พบกับ Maurice Coüet ผู้ผ่านประสบการณ์การฝึกฝนอย่างเข้มข้นมาจาก Prevost Workshop ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ที่ผลิตนาฬิกาตั้งโต๊ะได้อย่างดี ซึ่งต่อมาในปี 1911 M. Coüet ก็สามารถผลิตนาฬิกาตั้งโต๊ะในนามของ CARTIER จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่แบรนด์ถูกเรียกว่า “อัญมณีของราชาและราชาแห่งอัญณี” โดยสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 ซึ่งในขณะนั้น CARTIER ก็ได้กลายเป็นช่างทำนาฬิกาถวายแด่กษัตริย์ทั่วไปทั้งยุโรป

 

Screen Shot 2565 02 27 at 10.13.37

Master Horologist Maurice Coüet

 

Louis เองก็ให้การสนับสนุน Coüet ในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ โดยพวกเขาร่วมกันสร้างนาฬิกาตั้งโต๊ะจำนวนมากที่มีฟังก์ชั่นแบบสลับซับซ้อน ซึ่งยังคงดูทันสมัยอยู่จนถึงปัจจุบัน อาทิ นาฬิกาที่มีหน้าปัดหมุนกลับด้านได้, นาฬิกาแบบมินิทรีพีทเตอร์, นาฬิกาในแบบกรอบรูป, นาฬิกาพร้อมเข็มที่เคลือบเรเดียมเพื่อให้สามารถเรืองแสงในที่มืด และนาฬิกาสำหรับการเดินทางในขนาดพกพา แต่ในบรรดานาฬิกาทั้งหมด นาฬิกาดาวหางเป็นนาฬิกาที่ผู้คนต้องการมากที่สุด เนื่องจากเหตุการณ์ดาวหางฮัลเลย์ที่เคลื่อนตัวเข้าใกล้โลกอย่างน่ากลัวในช่วงเดือนพฤษภาคมปี 1910 จากการที่ผู้คนสามารถเห็นดาวหางที่สุกสว่างบนท้องฟ้ายามค่ำคืนเป็นเวลาหลายเดือนในปีนั้น Coüet จึงออกแบบนาฬิกาดาวหางหลายชุด พร้อมหน้าปัดที่แสดงให้เห็นได้ถึงท้องฟ้ายามค่ำคืน และมีดาวหางประดับเพชรเดินไปรอบ "ท้องฟ้า" อย่างลึกลับและอิสระโดยไม่มีจุดใดเชื่อมถึงแกนกลางอย่างเข็มนาฬิกาทั่วไป

Screen Shot 2565 02 27 at 10.18.33

Master Horologist Maurice Coüet 2

 

นาฬิกาดาราศาสตร์ของ CARTIER ถือเป็นผลงานศิลปะด้วยตัวของตัวเอง มีความละเอียดอ่อนอย่างแพรวพราวพร้อมความน่าทึ่งและแยบยล แต่ถึงกระนั้น Louis ก็ยังต้องการที่จะเพิ่มรายละเอียดเข้าไปให้มากกว่านั้นอยู่ดี เพราะเขาอยากสร้างความรู้สึกลึกลับและน่าค้นหาให้กับนาฬิกา ที่จะไม่มีใครสามารถเข้าใจได้ว่านาฬิกาของเขานั้นทำงานได้อย่างไร ซึ่ง "ความลึกลับ" ที่เขาจินตนาการไว้กับ Coüet นั้นคือการสร้างหน้าปัดที่โปร่งใสโดยเข็มนาฬิกา จะดูเหมือนลอยอยู่กลางอากาศ ราวกับสามารถแสดงเวลาได้ด้วยเวทมนตร์ โดยเขาได้รับแรงบันดาลใจจากผลงานของนักเล่นกล Robert-Houdin ซึ่งนาฬิกาปริศนาเรือนแรกของCARTIER ที่ใช้เวลาสร้างทั้งปี โดยไม่มีใครบอกว่านาฬิกาทำงานได้อย่างไร ยกเว้นช่างนาฬิกาและครอบครัวของ Cartier ซึ่งแม้แต่พนักงานขายก็ไม่ได้รับการถ่ายทอดรายละเอียดเหล่านี้ โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดความรู้สึกสงสัยให้กับพนักงาน และเป็นวิธีการถ่ายทอดความรู้สึกที่แท้จริงและได้ผลมากที่สุด โดยส่งตรงไปยังลูกค้าที่ต้องการร่วมค้นหาความลึกลับโดยหนึ่งในนั้นก็คือนายธนาคารแห่ง J.P. Morgan Jr. หนึ่งในไม่กี่คนที่สามารถซื้อนาฬิกาโมเดลแรกสุดที่รู้จักกันดีในชื่อ Model A ในปี 1913 ซึ่งปัจจุบันหนึ่งในโมเดลเหล่านี้สามารถทำราคาในการประมูลได้กว่าครึ่งล้านยูเอสดอลล่าร์

Cartier 2

Early 20th Century 'Comet' Semi-Mystery Clock

 

Screen Shot 2565 02 27 at 10.22.09

1920 Day and Night Comet Clock

 

และด้วยวิสัยทัศน์ที่สร้างสรรค์ของ Louis และการยืนหยัดในคุณภาพของผลิตภัณฑ์อย่างสูงสุดชื่อเสียงของ CARTIER จึงแผ่ขยายออกไปมากยิ่งขึ้น โดยในปี 1902 Pierre น้องชายของ Louis ได้เปิดโชว์รูมใหม่ขึ้นในลอนดอน และอีกสองปีต่อมา บริษัทก็ได้รับหมายสำคัญฉบับแรกจากสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 แห่งอังกฤษอันเสมือนเป็นตราประทับรับรองสำหรับราชวงศ์อื่นๆ ที่ส่งตามกันมาอย่างรวดเร็ว ทั้งหมายเพิ่มเติมจากสเปนและโปรตุเกส รวมทั้งในปี1907 จากเจ้าหญิง Marie Bonaparte หลานสาวของจักรพรรดิ Napoleon ที่ทรงเลือกอัญมณีของ CARTIER สำหรับพิธีอภิเษกสมรสกับเจ้าชาย George แห่งกรีซ ซึ่ง CARTIER รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้รับการคัดเลือก ถึงขั้นจัดงานนิทรรศการอัญมณีของเจ้าสาวในร้าน โดยมีเพชรที่เหมือนเทพธิดากรีกและมงกุฎมะกอกมรกตเป็นดาวเด่นของงาน

Screen Shot 2565 02 27 at 10.26.14

Art Deco Rock Crystal, Gold, Black Onyx, Enamel and Diamond 'Model A' Mystery Clock Sold for 515,000 April 15, 2013

 

แม้ว่า Louis จะประสบความสำเร็จในช่วงแรกๆ ของธุรกิจ แต่ช่วงต้นของศตวรรษที่ 20 ก็ไม่ง่ายนักสำหรับเขาเช่นกัน เพราะวิกฤตการณ์ทางการเงินของอเมริกาในปี 1907 ได้ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อการค้าสินค้าฟุ่มเฟือยจากฝรั่งเศส ซึ่งไม่สามารถปฏิเสธว่าอเมริกาเป็นประเทศที่สร้างความมั่งคั่งตลอดในช่วงที่ผ่านมา และถือเป็นลูกค้าที่ดีที่สุดของยุโรปสำหรับสินค้าฟุ่มเฟือย ดังนั้นเมื่อต้องเผชิญกับความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจอีกครั้ง Louis จึงมุ่งความสนใจไปที่ประเทศกลุ่มชนชั้นนำ ผู้รักความหรูหรามั่งคั่งและร่ำรวย ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากพายุเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรัสเซีย

 

csm cartier histoire 1904 9697c35123

First Royal certificate granted by the court of King Edward Vll

 

PrincessMarieBonaparte1

Princess Marie Bonaparte with Royal wedding

 

ในช่วงเวลาที่จักรพรรดินี Maria Feodorovna แห่งรัสเซียเสด็จเยือน 13 Rue de la Paix เป็นครั้งแรกนั้น มีส่วนทำให้ CARTIER ตัดสินใจเข้าไปในตลาดรัสเซีย โดย Alfred และ Louis ได้จ้าง François Désiré Sandra นักธุรกิจชาวรัสเซีย ให้เป็นผู้กำหนดและวางแผนกลยุทธ์สำหรับการขยายตัว ในดินแดนของ Romanovs โดยเรียกภารกิจนี้ว่า “ปฏิบัติการรัสเซีย" ซึ่งงานแรกของ Sandra คือการตรวจสอบเอกสารที่จำเป็นทั้งหมดสำหรับการขอพระราชทานหมายตรวจ ดังนั้นการที่มีคนที่พูดภาษารัสเซียและเข้าใจข้อกำหนดที่ซับซ้อนนั้น จึงเป็นข้อได้เปรียบอย่างมาก และด้วยเวลาอันรวดเร็ว CARTIER ก็ติดอันดับซัพพลายเออร์ที่ได้รับการยอมรับในราชสำนัก ดังนั้น Louis จึงมอบหมายความรับผิดชอบในการสร้างฐานลูกค้าชาวรัสเซียให้กับSandra เพราะเขาเชื่อมั่นว่า CARTIER จะสามารถตั้งสาขาขึ้นได้ในเซนท์ปีเตอร์สเบริก์ เพื่อรุกตลาดรัสเซียอย่างเต็มกำลัง นอกจากนั้นเขายังตัดสินใจเช่าตึกเพื่อเปิดโชว์รูมและสร้างป๊อป-อัพสโตร์ขึ้น ซึ่งแม้ว่าจะมีเครื่องประดับที่ผู้คนให้ความสนใจกันเป็นจำนวนมาก รวมทั้งมีรายการสั่งซื้อจำนวนหลายร้อยรายการ  แต่เมื่อพิจารณาในภาพรวมแล้ว ค่าใช้จ่ายทั้งหมดนั้นยังสูงกว่ารายรับและอยู่ในระดับที่ยังคงขาดทุน เนื่องจากยังคงอ่อนต่อข้อกฎหมายและข้อบังคับอีกหลายเรื่องในตลาดของรัสเซีย

 

Maria Feodorovna Dagmar of Denmark

 

Empress Maria Feodorovna of Russia

 

 

กรุณาติดตามตอนต่อไปเดือนหน้า

 

 

Untold Story “THE CARTIERS” Part I
Untold Story “THE CARTIERS” Part II